ไทยการเขียน

download (1)การเขียน

๑.  ใช้เป็นสื่อในการเขียนภาษาไทยมีแบบแผนและถ้อยคำสำนวนสำหรับใช้โดยเฉพาะผู้เขียนจะต้องเขียนให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านจะได้อ่านด้วยความเข้าใจและเพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้เขียนที่ต้องการให้ผู้อ่านรู้อะไรบ้าง
๒.  เป็นการให้ความรู้การเขียนให้ผู้อ่านนั้น ผู้เขียนจะต้องมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือการให้ความรู้แก่ผู้อ่าน เพื่อพัฒนาสติปัญญาให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น กล่าวคือ เมื่อผู้อ่านอ่านข้อความนั้นแล้วสามารถนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
๓.  เป็นการพัฒนาความคิด ผู้อ่านได้อ่านข้อเขียนที่ผู้เขียนเขียนไว้ ข้อเขียนเหล่านั้นช่วยพัฒนาความคิด ความเข้าใจ ความต้องการของผู้อ่านได้มากน้อยเพียงไร

องค์ประกอบของการเขียน

ในการเขียนข้อเขียนประเภทใดๆก็ตาม ทั้งบทความ ย่อความ เรียงความ จดหมาย ฯลฯ ผู้เขียนจะต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
ได้แก่
๑.  คำ
๒.  ประโยค
๓.  ข้อความสั้นๆ
๔.  ข้อความยาวๆ
๕.  เนื้อหา
๖.  ภาษา
๗.  ความรู้สึกและแรงจูงใจ

๑.คำ 

เป็นองค์ประกอบลำดับแรกของการเขียน ผู้เขียนจะต้องมีความคิดที่จะนำคำต่างๆมาเรียบเรียงและเขียนเพื่อให้ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจตามที่ผู้เขียนต้องการ ในการเขียนคำต่างๆ ผู้เขียนต้องพิจารณาคำที่จะใช้ในการเขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา ตามพจนานุกรม และภาษาที่นิยมใช้กัน การเขียน ตัวสะกด การันต์ให้ถูกต้อง จะช่วยให้งานเขียนของผู้เขียนเป็นที่นิยมของผู้อ่านโดยทั่วไป งานเขียนบางอย่างที่ผู้เขียนไม่คำนึงถึง การเขียนที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้อ่านเสื่อมศรัทธาและเบื่อหน่ายในงานเขียนนั้นๆได้

คำที่ใช้พูดกันเวลาเขียนต้องเขียนให้เป็นภาษาราชการหรือกึ่งราชการ

ภาษาพูด ภาษากึ่งราชการ ภาษาราชการ
ฉัน ดิฉัน ดิฉัน
ผม ข้าพเจ้า ข้าพเจ้า
เมีย ภรรยา ภรรยา
กิน ทาน รับประทาน
โรงพัก สถานีตำรวจ สถานีตำรวจ
หนัง ภาพยนตร์ ภาพยนตร์

๒.ประโยค

เมื่อผู้เขียนให้ความสนใจและระมัดระวังในเรื่องการเขียนคำต่างๆ อย่างถูกต้องก็จะช่วยให้เขียนประโยคได้ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ เพราะประโยคประกอบด้วยคำหลายๆคำมารวมกันผู้เขียนจึงต้องผูกประโยคให้ได้ จึงจะนำไปใช้ในการเขียนประเภทต่างๆได้เช่น
๑.น้องสาว มี เขา สวย
เมื่อนำมาผูกประโยคหรือเรียงคำเป็นประโยคใหม่ว่า  เขามีน้องสาวสวย
๒. คิด ความ เกิด ใจ จง ขึ้น ได้ก็ จง ใจ หรือ โดย ไม่
เรียงเป็นประโยคใหม่ได้ว่า    ความคิดเกิดขึ้นได้โดยจงใจหรือไม่จงใจก็ได้

๓.ข้อความสั้น

เมื่อผู้เขียนสามารถผูกประโยคใช้คำต่างๆแล้ว ในขั้นต่อไปคือเขียนข้อความสั้นๆ เพื่อสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง การเขียนข้อความสั้นๆ ได้โดยผู้เขียนลำดับประโยคหลายๆประโยคเข้าด้วยกัน เช่น ผู้ใหญ่ต้องทำตัวให้เป็นหลัก

๔.ข้อความยาวๆ

การเขียนข้อความยาวๆผู้เขียนจะต้องสามารถเขียนข้อความสั้นๆได้จึงจะสามารถนำข้อความสั้นๆหลายๆข้อความมารวมกันหรือสัมพันธ์กันเพื่อให้เกิดข้อความยาวๆและข้อความยาวๆจะเป็นองค์ประกอบประการหนึ่งในการเขียนเรียงความ บทความหรือการเขียนประเภทอื่นๆ ได้เช่น การอภิปรายกลุ่มย่อย เป็นกิจกรรมที่นักเรียนจะต้องทำอยู่เสมอบางครั้งก็เป็นการอภิปรายในชั้นเรียนหลังจากการฟังบรรยายแล้ว บางครั้งก็มีการอภิปรายปรึกษาหารือเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย

๕.เนื้อหา

เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะให้ผู้อ่านทราบ เนื้อหาจะต้องมีสาระเพื่อช่วยพัฒนาในด้านต่างๆเช่น ทางด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจ ทัศนคติ ความเปลี่ยนแปลงในด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมั่นใจ เช่น ความรู้ในเรื่องการบริโภคอาหาร ผู้อ่านที่มีรูปร่างอ้วนหรือผอมก็จะนำความรู้ที่ผู้เขียน เขียนมาไว้ศึกษา อาหารประเภทใดผู้ที่มีรูปร่างอ้วนไม่ควรรับประทาน อาหารประเภทใดที่ทำให้คนรูปร่างผอมรับประทานแล้วจะอ้วน ผู้อ่านจะนำความรู้ที่ได้นั้นมาใช้และปฏิบัติ เพื่อให้มีรูปร่างดีได้มาตรฐาน มีสุขภาพและบุคลิกดี

๖.ภาษา

ภาษาคือ ถ้อยคำหรือสำนวนโวหารต่างๆ ที่อยู่ในขอบเขต ภาษาที่ใช้จะต้องสละสลวยมีความละเอียดอ่อน มีความรอบคอบ และสุภาพและเป็นที่นิยมใช้กันคือ

๑. สำนวนภาษา เช่น ขมิ้นกับปูน   เขียนเสือให้วัวกลัว    เกลือจิ้มเกลือ ตีวัวกระทบคราด
๒.สำนวนเปรียบเทียบ เช่น     เขาสง่างามอย่างเสาโทรเลข งามโอษฐ์ดังในไม้อ่อนขมเหมือนบอระเพ็ด                ขาวเหมือนสำลี   ดำเหมือนดินหม้อ

๗. ความรู้สึกและแรงจูงใจ

ในการเขียนผู้เขียนจะต้องใช้ความรู้สึกของตนว่าทำอย่างไรจึงจะให้ข้อความที่เขียนนั้นจูงใจ ให้ผู้อ่านเข้าใจในความรู้สึกที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นๆ ออกมาในงานเขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความคิด ความขัดแย้ง และคล้อยตามไปกับงานเขียนของผู้เขียนด้วย เช่น
คำว่า “แม่” ทุกคนย่อมรู้จักบุคคลแรกที่เราลืมตาดูโลกและพบนั้นคือแม่ของเรา แม่เป็นผู้มีพระคุณผู้ฟูมฟักและเลี้ยงดูเราตั้งแต่เรายังแบเบาะจนกระทั่งเติบใหญ่ เป็นผู้ใหญ่มีการมีงานทำ ผู้เป็นลูกไม่ควรลืมพระคุณของแม่ที่มีต่อเรา ไม่มีสิ่งใดในโลกที่เราจะรักและเทิดทูนบูชาเท่าแม่ของเรา

หลักการเขียน

เนื่องจากหลักการเขียนเป็นทักษะที่ต้องเอาใจใส่ฝึกฝนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญ และป้องกันความผิดพลาด ดังนั้น ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องใช้หลักในการเขียน ดังต่อไปนี้

     1. มีความถูกต้อง คือ ข้อมูลถูกต้อง ใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะ

     2. มีความชัดเจน คือ ใช้คำที่มีความหมายชัดเจน รวมถึงประโยคและถ้อยคำสำนวน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรงตามจุดประสงค์

     3. มีความกระชับและเรียบง่าย คือ รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำธรรมดาเข้าใจง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้ได้ใจความชัดเจน กระชับ ไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่าย

     4. มีความประทับใจ โดยการใช้คำให้เกิดภาพพจน์ อารมณ์และความรู้สึกประทับใจ มีความหมายลึกซึ้งกินใจ ชวนติดตามให้อ่าน

     5. มีความไพเราะทางภาษา คือ ใช้ภาษาสุภาพ มีความประณีตทั้งสำนวนภาษาและลักษณะเนื้อหา อ่านแล้วไม่รู้สึกขัดเขิน

     6. มีความรับผิดชอบ คือ ต้องแสดงความคิดเห็นอย่างสมเหตุสมผล มุ่งให้เกิดความรู้และทัศนคติอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น นอกจากหลักการเขียนที่จำเป็นต่อการเขียนแล้ว สิ่งที่มีความจำเป็นอีกประการหนึ่งคือกระบวกการคิดกับกระบวนการเขียนที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับหลักการเขียน เพื่อที่จะทำให้สามารถเขียนได้ดียิ่งขึ้น

ลักษณะผู้เขียน

ผู้เขียนนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิด ของผู้เขียนเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้เกิดการเขียนขึ้น ดังนั้นจึงกล่าวถึง ลักษณะของผู้เขียน ได้ดังนี้
1) มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และจินตนาการ
2) มีความรอบรู้ เพราะความรู้เปรียบเสมือนวัตถุดิบ
3) เลือกเนื้อหาและใช้ภาษาได้ถูกต้อง และเหมาะสมตามหลักการใช้ภาษา
4) หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็น ที่จะทำให้ผู้อื่นหรือตัวเองเดือดร้อน
5) ลักษณะท่าทาง ผู้เขียนนอกจากมีความคิด ความรู้ และความสามารถบุคลิกลักษณะ ท่าทางในการนั่ง การวางมือ การจับปากกาดินสอ ผู้เขียนต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อสุขภาพของผู้เขียนเอง
6) ลายมือของผู้เขียน เขียนให้ถูกต้อง เป็นระเบียบ สะอาดและชัดเจน
7) จรรยาบรรณผู้เขียน หมายถึง มารยาท เช่น การให้เกียรตินักเขียนโดยลงชื่อเจ้าของผลงานที่เราลอกหรือเอาแนวคิดของ เขามาทุกครั้ง

รูปแบบการเขียนตามความต้องการของหลักสูตร

ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ) กล่าวถึงสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยไว้ว่า ภาษาไทยเป็นทักษะ               ที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การเรียนรู้ อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง

ในด้านการเขียน ให้เรียนรู้การเขียนสะกดตามอักขรวิธี การเขียนสื่อสารโดยใช้ถ้อยคำและรูปแบบต่างๆของการเขียน ซึ่งรวมทั้งการเขียนเรียงความ ย่อความ รายงานชนิดต่างๆ การเขียนตามจินตนาการ วิเคราะห์วิจารณ์และเขียนเชิงสร้างสรรค์

โดยให้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้สำหรับสาระการเรียนรู้การเขียนไว้ ดังนี้ “ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความและเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศ และรายการการศึกษาที่ค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ” จากนั้นได้กำหนดตัวชี้วัดชั้นปี ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพในด้านการเขียนไว้ด้วย

    มารยาทในการเขียนจดหมาย                 

      ๑)  เลือกกระดาษ ซอง ที่สะอาดเรียบร้อย หากเป็นไปได้ควรใช้กระดาษที่ทำขึ้นเพื่อการเขียนจดหมายโดยตรง แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ควรใช้กระดาษที่มีสีสุภาพ กระดาษที่ใช้เขียนควรเป็นกระดาษเต็มแผ่น ไม่ฉีกขาด ไม่ยู่ยี่ยับเยิน ไม่สกปรก
ซองจดหมายที่ดีที่สุดคือซองที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น เพราะมีขนาดและ คุณภาพได้มาตรฐาน ซองประเภทนี้มีจำหน่ายตามที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทุกแห่ง ถ้าหาซองจดหมายของการสื่อแห่งประเทศไม่ได้ ก็อาจเลือกซื้อจากซองที่มีเอกชนทำขึ้นจำหน่าย ซึ่งถ้าเป็นในกรณีหลังนี้ ควรเลือกซองที่มีสีสุภาพ ไม่ควรมีลวดลาย
ไม่ควรใช้ซองที่มีตราครุฑส่งจดหมายที่มิใช่หนังสือราชการ
ไม่ควรใช้ซองที่มีขอบซองเป็นลายขาวแดงน้ำเงินสลับกัน ซึ่งเป็นซองสำหรับส่งจดหมายไปรษณีย์อากาศไปยังต่างประเทศ ในการส่งจดหมายในประเทศ
๒)  เขียนหนังสือให้ชัดเจน อ่านง่าย การเขียนตัวอักษรค่อนข้างโตและเว้นช่องไฟค่อนข้างห่าง จะช่วยให้จดหมายนั้นอ่านง่าย
ไม่ควรเขียนด้วยดินสอดำหรือหมึกสีแดง เพราะถือกันว่าไม่สุภาพ แม้หมึกหรือดินสอสีต่าง ๆ ก็ไม่ควรเขียนจดหมาย สีที่เหมาะสมคือสีน้ำเงินและสีดำ
ไม่ควรเขียนให้มีตัวผิด ตัวตก ต้องแก้ต้องเติม มีรอยขูดลบขีดฆ่า หรือมีเส้นโยง ข้อความรุงรัง ทำให้ดูสกปรกไม่งามตา
๓)  จะต้องศึกษาให้ถูกต้องถ่องแท้ก่อนว่า ผู้ที่เราจะเขียนจดหมายไปถึงนั้น เป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่อะไร การเขียนข้อความในจดหมายก็ดี การจ่าหน้าซองก็ดี จะต้องระบุตำแหน่งหน้าที่ ชั้นยศของผู้นั้นให้ถูกต้องและต้องสะกดชื่อ นามสกุล ยศ ตำแหน่ง ของผู้นั้นให้ถูกต้องด้วย
๔)  เมื่อเขียนจดหมายเสร็จแล้ว ต้องพับให้เรียบร้อยแล้วบรรจุซอง จ่าหน้าซองให้ถูกต้องครบถ้วน ปิดดวงตราไปรษณียากรให้ครบถ้วนตามราคาและถูกตำแหน่ง ก่อนที่จะนำไปส่ง

เขียนจ่าหน้าซองจดหมาย

  •  เขียนชื่อ นามสกุลของผู้รับให้ถูกต้อง ชัดเจน อ่านง่าย ถ้าผู้รับเป็นแพทย์ เป็นอาจารย์ หรือมียศตำรวจ ทหาร หรือมีคำนำหน้านามแสดงเกียรติยศหรือฐานันดรศักดิ์ ก็ใช้ถ้อยคำพิเศษเหล่านั้นนำหน้าชื่อ คำนำหน้าชื่อควรเขียนเต็ม ไม่ควรใช้คำย่อ ถ้าทราบตำแหน่งก็ระบุตำแหน่งลงไปด้วย
    ในกรณีที่ไม่ทราบรายละเอียดดังกล่าว ควรใช้คำว่า คุณ นำหน้าชื่อผู้รับในการจ่าหน้าซองจดหมาย
  •  ระบุสถานที่ของผู้รับให้ถูกต้อง ชัดเจนและมีรายละเอียดพอที่บุรุษไปรษณีย์จะนำจดหมายไปส่งได้ไม่ผิดพลาด ระบุเลขที่บ้าน ห้างร้านหรือสำนักงาน ซอย ตรอก ถนน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ (ในกรณีต่างจังหวัด) หรือแขวง เขต (ในกรณีกรุงเทพมหานคร) ที่สำคัญคือจะต้องระบุรหัสไปรษณีย์ถูกต้องทุกครั้ง จดหมายจะถึงผู้รับเร็วขึ้น
     หมายเหตุ การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้จัดทำเอกสารแสดงรหัสไปรษณีย์ของอำเภอและจังหวัด ต่าง ๆ สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน ท่านจะติดต่อขอรับได้จากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทุกแห่ง
  • การจ่าหน้าซอง การสื่อสารแห่งประเทศไทย แนะนำให้เขียนนามและที่อยู่ พร้อมด้วยรหัสไปรษณีย์ของผู้ส่งไว้ที่มุมบนด้านซ้ายมือของซองและเขียนชื่อ ผู้รับพร้อมที่อยู่และรหัสไปรษณีย์ไว้ตรงกลาง ดังตัวอย่าง

วิดีโอ

ขอขอบคุณข้อมูลและวิดีโอ

  • https://blog.eduzones.com/panumas125/126675
  • หน้า 156 -159 ของหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ” พัฒนาทักษะภาษา” เล่ม 3 ( กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาที่ 2 ตามหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ) โดย เสนีย์ วิลาวรรณ ( สนพ. วพ. )
  • http://www.geocities.com/taoliks/e007.htm.
  • kiattisak keawla